วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553

「やりもらい」จะเป็นผู้ให้ เอ๊ะ! หรือจะเป็นผู้รับดี?!?! (2)

ระหว่างที่เก็บตัวอย่างรูปประโยคที่มีไวยากรณ์เรื่อง やりもらいอยู่นั้น ก็เกิดคำถามขึ้นในใจอยู่สองสามข้อ คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องคำช่วย เพราะเรื่องคำช่วยเป็นอะไรที่ตายตัวอยู่แล้ว แต่เกี่ยวกับเรื่องหลักการใช้ที่ไม่มีบอกในตำรา อาจเป็นเพราะในตำรายังกล่าวไม่หมด หรือ กล่าวเพียงคร่าวๆเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องกาลเทศะ ว่าตกลงเราจะใช้ やりもらい ได้เมื่อใดบ้าง มีกฎเกณฑ์ตายตัวบอกหรือไม่


หรือว่าแล้วแต่ตัวบุคคลว่าจะเลือกใช้เมื่อใด หรือเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความคุ้นเคย เคยชินแล้วใช้ Sense เอา เป็นเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายออกมาคำพูด เป็นลายลักษณ์อักษรได้หรืออย่างไร

หลังจากที่เก็บตัวอย่างประโยคมาได้พอสมควร ก็เข้าใจในแบบของตัวเอง บางทีเรื่องที่ในตำราบอกไว้ เราก็ใช้วิธีอธิบายให้ตัวเองฟังใหม่โดยเลือกใช้คำใหม่ที่เราเข้าใจเองได้ดีกว่าและง่ายกว่า ซึ่งก็ไม่สามารถพูดได้ว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นถูกต้องแล้ว อาจจะผิดก็ได้ แต่ก็จะขอเล่าสิ่งที่เราเข้าใจให้ฟัง เผื่อใครจะมีความคิดเห็นดีๆมาเสนอ เพิ่มเติม แก้ไข หรือแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งจะขอกล่าวทีละประเด็นไป

1.ตามตำราบอกไว้ว่า คำกิริยากลุ่มもらう、くれる ใช้เมื่อผู้รับได้ผลประโยชน์ จึงสงสัยเมื่อไปเจอประโยคตัวอย่างที่ว่า

シスターアンジェラは僕が負けたら、喜んでくれますか。
ถ้าผมแพ้ ซิสเตอร์แองเจลล่าจะดีใจรึเปล่าครับ

ทั้งๆที่การแพ้ไม่น่าจะเป็นผลประโยชน์กับผู้พูด แต่ทำไมถึงใช้กิริยา くれる ได้
แต่ก็มาเข้าใจภายหลังว่า ผลประโยชน์ของผู้พูด คือการที่ซิสเตอร์ดีใจ เพราะว่าผู้พูดชอบซิสเตอร์อยู่ จึงอยากทำให้ซิสเตอร์ดีใจ

สรุปคือ คำกิริยาเหล่านี้ แสดงความปรารถนาของผู้พูด แม้ว่าในประโยคจะมีเนื้อหาในแง่เสียผลประโยชน์ หรือแง่ลบก็ตาม แต่หากผู้พูดเลือกใช้คำกิริยากลุ่มนี้ก็แสดงว่าผู้พูดปรารถนาให้เป็นไปตามนั้น

2. เจอตัวอย่างประโยคที่ชวนให้คิดว่า มีสำนวนตายตัว ที่มีคำ やりもらい ประกอบอยู่ด้วยรึเปล่า ตัวอย่างนั้นก็คือ

気に入っていただけました?
สนใจรูปนั้นเหรอคะ
(เจ้าของภาพเดินเข้ามาหาแขกที่กำลังดูรูปๆหนึ่งอยู่ในแกลอรี่)

สงสัยว่าเวลามีลูกค้ามีท่าทางสนใจในสินค้า ไม่ว่าจะสินค้าอะไรก็ตาม เราจะสามารถใช้ประโยคตัวอย่างนี้ได้หรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าได้

อย่างไรก็ตาม เราก็จดจำประโยคนี้ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะคิดว่าเป็นประโยคที่มีประโยชน์ทีเดียว จัดว่าเป็นประโยคหากินได้

3. เพื่อจะทราบความรู้สึก ความปรารถนาที่แท้จริงของผู้พูดแล้ว เราต้องสังเกตน้ำเสียงของผู้พูด เพราะเนื่องจากวัฒนธรรมการถ่อมตนของชาวญี่ปุ่นที่ใช้คำสุภาพอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลาโกรธ หรือไม่พอใจ หากเราแปลความหมายจากคำพูดเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เข้าใจความรู้สึกของผู้พูดบิดเบือน ผิดเพี้ยนไปได้

ฉะนั้น น้ำเสียง และ ท่าทาง จึงมีประโยชน์มากในการสื่อสาร นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ตัวอย่างประโยคที่ว่า

悪いけど、やっぱり砂子ちゃんには最高にきれいに同窓会に行ってもらうから。
ไม่รู้แหละ ยังไงก็จะให้ซุนะโกะจังไปงานเลี้ยงรุ่น แล้วก็ต้องสวยที่สุดในงานด้วย
(ผู้ฟังเป็นคนเดียวที่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องแต่งตัวสวย คัดค้านการแต่งตัวสวย)

ผู้พูดใช้น้ำเสียงเอาแต่ใจ เชิงบังคับผู้ฟัง ยังไงๆก็จะให้เป็นอย่างที่ว่า แต่ก็ยังใช้รูป ~てもらうตามมารยาท ทำให้ดูอ่อนลง ไม่กระด้างกระเดื่องเกินไป

4. เราไม่จำเป็นต้องแปลคำ やりもらい ทุกครั้งไปก็ได้ เพราะการแปลตรงตัวนั้นนอกจากจะฟังดูไม่เป็นธรรมชาติแล้ว ยังอาจทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปก็เป็นได้

จากตัวอย่างประโยคที่เราหามาได้ มีไม่น้อยเลยทีเดียวที่เราคิดว่าไม่ควรจะแปลตรงตัว

เราควรใช้ประโยชน์จาก คำ やりもらい เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของผู้ส่งสาร นึกภาพตาม เป็นอิสระจากตัวอักษร แล้วแปลตามภาพที่เราเห็นนั้น

5. เราสามารถผันคำกิริยา やりもらいได้ทุกรูปแบบ ผันได้ทุกคำกิริยา แล้วแต่ว่าเราต้องการจะสื่อแบบไหน แต่ต้องระวัง เพราะความที่มันซับซ้อน อาจทำให้สื่อสารผิด หรือผู้ฟังอาจเข้าใจเราผิดได้ ต้องรอบคอบก่อนจะเลือกใช้คำใดๆไปผันเป็นรูปใดๆ

จากการเก็บตัวอย่างประโยคนี้ พบคำ やりもらい ที่ผันรูปไปต่างๆนานา หลายประโยคที่ฟังแล้วก็คิดว่า ผันอย่างนี้ก็ได้ด้วยเหรอเนี่ย ในที่นี้จะขอเรียกการผันเหล่านี้ว่า "ลูกเล่น" ก็แล้วกัน

สำหรับชาวต่างชาติอาจจะเข้าใจ "ลูกเล่น" เหล่านั้นยากหน่อย หรือ อาจต้องใช้เวลาคิดนานหน่อย เพราะในตำราเรียน ตัวอย่างประโยคที่ใช้ส่วนใหญ่จะผันเป็นรูปซ้ำๆ เดิมๆ คนไม่เคยฟัง ยังไม่ชำนาญ ก็อาจจะงง แต่เรื่องอย่างนี้เราฝึกกันได้ เพราะฉะนั้น เพื่อให้เราเล่น "ลูกเล่น" ได้ และเพื่อให้เข้าใจ "ลูกเล่น" ของคนญี่ปุ่น สามารถพูดโต้ตอบ "ลูกเล่น" เหล่านั้นได้อย่างธรรมชาติ เราก็ต้องหมั่นสังเกต หมั่นฝึกฝนกันต่อไป

6. สืบเนื่องจากประเด็นที่ 5 เราพบว่าในบริบทหนึ่งๆ ไม่จำเป็นว่าจะใช้กลุ่มคำ やりもらいได้เพียงกลุ่มเดียว กล่าวคือ ในบริบทเดียวกันนั้น เราอาจพูดได้สองแบบโดยใช้กิริยาต่างกลุ่มกัน แล้วแต่เราจะเล่น ลูกเล่น ยกตัวอย่างเช่น

เราอาจพูดว่าねえ、俺のことどう思ってって,聞いてもらってもいい?หรือ
ねえ、俺のことどう思ってって,聞かせてくれない?ก็ได้
และเราอาจพูดว่า 読んでもらえませんか。หรือ 読んでくれませんか。ก็ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ต้องผ่านการคิดอย่างรอบคอบแล้วถึงสถานะของผู้ฟัง และ ผุ้พูด

ตอนเขียนไดอารี่ก็เลยถือโอกาสใส่ "ลูกเล่น" ที่อาจจะฟังดูแปลกๆลงไปบ้าง แต่ก็คิดว่าไม่น่าจะผิดไวยากรณ์อะไร กลัวก็แต่จะผิดเรื่องคำช่วยนี่เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น