วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553

「やりもらい」จะเป็นผู้ให้ เอ๊ะ! หรือจะเป็นผู้รับดี?!?! (2)

ระหว่างที่เก็บตัวอย่างรูปประโยคที่มีไวยากรณ์เรื่อง やりもらいอยู่นั้น ก็เกิดคำถามขึ้นในใจอยู่สองสามข้อ คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องคำช่วย เพราะเรื่องคำช่วยเป็นอะไรที่ตายตัวอยู่แล้ว แต่เกี่ยวกับเรื่องหลักการใช้ที่ไม่มีบอกในตำรา อาจเป็นเพราะในตำรายังกล่าวไม่หมด หรือ กล่าวเพียงคร่าวๆเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องกาลเทศะ ว่าตกลงเราจะใช้ やりもらい ได้เมื่อใดบ้าง มีกฎเกณฑ์ตายตัวบอกหรือไม่


หรือว่าแล้วแต่ตัวบุคคลว่าจะเลือกใช้เมื่อใด หรือเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความคุ้นเคย เคยชินแล้วใช้ Sense เอา เป็นเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายออกมาคำพูด เป็นลายลักษณ์อักษรได้หรืออย่างไร

หลังจากที่เก็บตัวอย่างประโยคมาได้พอสมควร ก็เข้าใจในแบบของตัวเอง บางทีเรื่องที่ในตำราบอกไว้ เราก็ใช้วิธีอธิบายให้ตัวเองฟังใหม่โดยเลือกใช้คำใหม่ที่เราเข้าใจเองได้ดีกว่าและง่ายกว่า ซึ่งก็ไม่สามารถพูดได้ว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นถูกต้องแล้ว อาจจะผิดก็ได้ แต่ก็จะขอเล่าสิ่งที่เราเข้าใจให้ฟัง เผื่อใครจะมีความคิดเห็นดีๆมาเสนอ เพิ่มเติม แก้ไข หรือแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งจะขอกล่าวทีละประเด็นไป

1.ตามตำราบอกไว้ว่า คำกิริยากลุ่มもらう、くれる ใช้เมื่อผู้รับได้ผลประโยชน์ จึงสงสัยเมื่อไปเจอประโยคตัวอย่างที่ว่า

シスターアンジェラは僕が負けたら、喜んでくれますか。
ถ้าผมแพ้ ซิสเตอร์แองเจลล่าจะดีใจรึเปล่าครับ

ทั้งๆที่การแพ้ไม่น่าจะเป็นผลประโยชน์กับผู้พูด แต่ทำไมถึงใช้กิริยา くれる ได้
แต่ก็มาเข้าใจภายหลังว่า ผลประโยชน์ของผู้พูด คือการที่ซิสเตอร์ดีใจ เพราะว่าผู้พูดชอบซิสเตอร์อยู่ จึงอยากทำให้ซิสเตอร์ดีใจ

สรุปคือ คำกิริยาเหล่านี้ แสดงความปรารถนาของผู้พูด แม้ว่าในประโยคจะมีเนื้อหาในแง่เสียผลประโยชน์ หรือแง่ลบก็ตาม แต่หากผู้พูดเลือกใช้คำกิริยากลุ่มนี้ก็แสดงว่าผู้พูดปรารถนาให้เป็นไปตามนั้น

2. เจอตัวอย่างประโยคที่ชวนให้คิดว่า มีสำนวนตายตัว ที่มีคำ やりもらい ประกอบอยู่ด้วยรึเปล่า ตัวอย่างนั้นก็คือ

気に入っていただけました?
สนใจรูปนั้นเหรอคะ
(เจ้าของภาพเดินเข้ามาหาแขกที่กำลังดูรูปๆหนึ่งอยู่ในแกลอรี่)

สงสัยว่าเวลามีลูกค้ามีท่าทางสนใจในสินค้า ไม่ว่าจะสินค้าอะไรก็ตาม เราจะสามารถใช้ประโยคตัวอย่างนี้ได้หรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าได้

อย่างไรก็ตาม เราก็จดจำประโยคนี้ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะคิดว่าเป็นประโยคที่มีประโยชน์ทีเดียว จัดว่าเป็นประโยคหากินได้

3. เพื่อจะทราบความรู้สึก ความปรารถนาที่แท้จริงของผู้พูดแล้ว เราต้องสังเกตน้ำเสียงของผู้พูด เพราะเนื่องจากวัฒนธรรมการถ่อมตนของชาวญี่ปุ่นที่ใช้คำสุภาพอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลาโกรธ หรือไม่พอใจ หากเราแปลความหมายจากคำพูดเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เข้าใจความรู้สึกของผู้พูดบิดเบือน ผิดเพี้ยนไปได้

ฉะนั้น น้ำเสียง และ ท่าทาง จึงมีประโยชน์มากในการสื่อสาร นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ตัวอย่างประโยคที่ว่า

悪いけど、やっぱり砂子ちゃんには最高にきれいに同窓会に行ってもらうから。
ไม่รู้แหละ ยังไงก็จะให้ซุนะโกะจังไปงานเลี้ยงรุ่น แล้วก็ต้องสวยที่สุดในงานด้วย
(ผู้ฟังเป็นคนเดียวที่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องแต่งตัวสวย คัดค้านการแต่งตัวสวย)

ผู้พูดใช้น้ำเสียงเอาแต่ใจ เชิงบังคับผู้ฟัง ยังไงๆก็จะให้เป็นอย่างที่ว่า แต่ก็ยังใช้รูป ~てもらうตามมารยาท ทำให้ดูอ่อนลง ไม่กระด้างกระเดื่องเกินไป

4. เราไม่จำเป็นต้องแปลคำ やりもらい ทุกครั้งไปก็ได้ เพราะการแปลตรงตัวนั้นนอกจากจะฟังดูไม่เป็นธรรมชาติแล้ว ยังอาจทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปก็เป็นได้

จากตัวอย่างประโยคที่เราหามาได้ มีไม่น้อยเลยทีเดียวที่เราคิดว่าไม่ควรจะแปลตรงตัว

เราควรใช้ประโยชน์จาก คำ やりもらい เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของผู้ส่งสาร นึกภาพตาม เป็นอิสระจากตัวอักษร แล้วแปลตามภาพที่เราเห็นนั้น

5. เราสามารถผันคำกิริยา やりもらいได้ทุกรูปแบบ ผันได้ทุกคำกิริยา แล้วแต่ว่าเราต้องการจะสื่อแบบไหน แต่ต้องระวัง เพราะความที่มันซับซ้อน อาจทำให้สื่อสารผิด หรือผู้ฟังอาจเข้าใจเราผิดได้ ต้องรอบคอบก่อนจะเลือกใช้คำใดๆไปผันเป็นรูปใดๆ

จากการเก็บตัวอย่างประโยคนี้ พบคำ やりもらい ที่ผันรูปไปต่างๆนานา หลายประโยคที่ฟังแล้วก็คิดว่า ผันอย่างนี้ก็ได้ด้วยเหรอเนี่ย ในที่นี้จะขอเรียกการผันเหล่านี้ว่า "ลูกเล่น" ก็แล้วกัน

สำหรับชาวต่างชาติอาจจะเข้าใจ "ลูกเล่น" เหล่านั้นยากหน่อย หรือ อาจต้องใช้เวลาคิดนานหน่อย เพราะในตำราเรียน ตัวอย่างประโยคที่ใช้ส่วนใหญ่จะผันเป็นรูปซ้ำๆ เดิมๆ คนไม่เคยฟัง ยังไม่ชำนาญ ก็อาจจะงง แต่เรื่องอย่างนี้เราฝึกกันได้ เพราะฉะนั้น เพื่อให้เราเล่น "ลูกเล่น" ได้ และเพื่อให้เข้าใจ "ลูกเล่น" ของคนญี่ปุ่น สามารถพูดโต้ตอบ "ลูกเล่น" เหล่านั้นได้อย่างธรรมชาติ เราก็ต้องหมั่นสังเกต หมั่นฝึกฝนกันต่อไป

6. สืบเนื่องจากประเด็นที่ 5 เราพบว่าในบริบทหนึ่งๆ ไม่จำเป็นว่าจะใช้กลุ่มคำ やりもらいได้เพียงกลุ่มเดียว กล่าวคือ ในบริบทเดียวกันนั้น เราอาจพูดได้สองแบบโดยใช้กิริยาต่างกลุ่มกัน แล้วแต่เราจะเล่น ลูกเล่น ยกตัวอย่างเช่น

เราอาจพูดว่าねえ、俺のことどう思ってって,聞いてもらってもいい?หรือ
ねえ、俺のことどう思ってって,聞かせてくれない?ก็ได้
และเราอาจพูดว่า 読んでもらえませんか。หรือ 読んでくれませんか。ก็ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ต้องผ่านการคิดอย่างรอบคอบแล้วถึงสถานะของผู้ฟัง และ ผุ้พูด

ตอนเขียนไดอารี่ก็เลยถือโอกาสใส่ "ลูกเล่น" ที่อาจจะฟังดูแปลกๆลงไปบ้าง แต่ก็คิดว่าไม่น่าจะผิดไวยากรณ์อะไร กลัวก็แต่จะผิดเรื่องคำช่วยนี่เอง

「やりもらい」จะเป็นผู้ให้ เอ๊ะ! หรือจะเป็นผู้รับดี?!?!

ไม่ได้เข้ามาอัพ blog เสียนาน จนอดคิดไม่ได้ว่าเป็น blog ร้างไปเสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม กรุณาพร กลับมาแล้วค่ะ

วันนี้จะขอเข้ามาเล่าเกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ やりもらい หรือ การใช้คำกิริยา “ให้” และ “รับ” นั่นเอง

ในระหว่างที่กำลังทำพอร์ทฟอร์ลิโอ ก็ค้นเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้มาเมื่อสมัย ม.ปลาย หนังสือชื่อว่า คำกิริยาภาษาญี่ปุ่นน่ารู้ เขียนโดย ผ.ศ. นฤมล ลี้ปิยะชาติ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 หนังสือเล่มนี้มีบทที่อธิบายไวยากรณ์เรื่อง やりもらい อยู่ จึงถือโอกาสนี้ สรุปเนื้อหาจากในหนังสือ มาเผยแพร่อีกทอดหนึ่ง

ในภาษาญี่ปุ่นมีคำกิริยาชุดหนึ่งที่มีความหมายเกี่ยวกับการให้และการรับ เป็นชุดคำกิริยาที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับการให้และรับอยู่หลายตัว ด้วยเหตุที่มีอยู่หลายตัวนี้เอง ทำให้คำกิริยาชุดนี้เป็นเรื่องยากสำหรับคนไทย เพราะคนไทยมีเพียงสองคำ คือ “ให้” และ “รับ” เท่านั้น ไม่มีข้อแตกต่างในการใช้คำที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้หรือผู้รับแต่อย่างใด กล่างคือ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ให้ ใครจะเป็นผู้รับ ก็ใช้คำเดียวกันหมด แต่ภาษาญี่ปุ่นจะแบ่งคำกิริยาชุดดังกล่าวตามลักษณะความหมาย จะขออธิบายทีละชุดไป

やる、あげる、さしあげる
ทั้งสามคำนี้มีความหมายเดียวกันคือ “ให้” แต่ต่างกันที่ระดับของความสุภาพ

やる ใช้กับผู้ที่ด้อยกว่าทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ ชาติวุฒิ เป็นลักษณะการให้ในแนวดิ่งจากบนลงล่าง เช่น เจ้านายให้ลูกน้อง คนให้อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

あげる เป็นคำกลางๆ ใช้ได้ทั่วไป ใช้ได้ทั้งกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า จนถึงผู้ที่มีอายุมากกว่า

さしあげる ใช้ในกรณีที่ต้องการความสุภาพมาก ใช้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า เป็นการให้ในแนวตั้ง จากข้างล่างยกขึ้นข้างบน หากเปรียบเป็นภาพก็เหมือนการยกของขึ้นศีรษะ แสดงความเคารพอย่างยิ่งในการใช้คำนี้

ประเด็นสำคัญของกิริยาชุดนี้คือ “เราเป็นผู้ให้” หรือ “คนอื่นให้คนอื่น” กล่าวคือ ผู้รับต้องเป็นคนอื่นที่นอกเหนือจาก “ตัวฉัน” “พวกฉัน” “พวกเรา” โครงสร้างของประโยค จะเป็นดังนี้

ประธาน(ผู้ให้) กรรมรอง(ผู้รับ) กรรมตรง あげる。ยกตัวอย่างเช่น

私は彼女に花をあげました。
私は猫にえさをやりました。
私は先生に本を差し上げました。
山田さんは田中さんに切符をあげました。

くれる、くださる
คำกิริยาชุดนี้จะแสดงให้เห็นว่า “ผู้อื่น” ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานของประโยคได้ให้อะไรบางอย่างแก่เรา “ตัวฉัน” “พวกฉัน” “พวกเรา” เป็นฝ่ายได้รับประโยชน์ มีโครงสร้างของประโยคเหมือนกับคำกิริยาในชุดแรก คือ
ประธาน(ผู้ให้) กรรมรอง(ผู้รับ=เรา) กรรมตรง くれる。 ยกตัวอย่างเช่น

田中さんは私にりんごをくれました。
近所のおばあさんは母にみかんをくれました。

การใช้คำกิริยาชุดนี้แสดงให้เห็นว่าผู้อื่นได้กรุณาให้อะไรบางอย่างแก่เรา หรือ ทำอะไรบางอย่างให้เรา แสดงให้เห็นถึงความกรุณาของผู้ให้ สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมความอ่อนน้อมถ่อมตน ยกย่องผู้อื่น ของคนญี่ปุ่น

เนื่องจาก กรรมรอง(ผู้รับ=เรา) ของกิริยาชุดนี้มักจะเป็น 私จึงอาจพบประโยคที่ละกรรมรองบ่อยครั้ง เช่น

友達はケーキをくれました。
山本さんがくれたネクタイはこれです。

ในประโยคเหล่านี้จะเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่า ผู้รับคือ 私

ต่อไปนี้คือตัวอย่างประโยคกรณีที่ผู้รับไม่ใช่ 私

田中さんはあなたに何をくれましたか。
田中さんは姉にお土産をくれました。

ทั้งสองประโยคข้างต้น ผู้รับไม่ใช่私แต่มีความสัมพันธ์กับ 私 จึงจัดว่าเป็นกลุ่มเดียวกับผู้พูด ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้รับ กับ ผู้ให้ ว่าเป็นคนอื่นที่จัดว่าอยู่คนละกลุ่มกันด้วย

สำหรับคำกิริยา くださるมีวิธีใช้เช่นเดียวกับ くれる ต่างกันที่ระดับความสุภาพ
くださる ใช้เพื่อแสดงความสุภาพ ควรใช้ในกรณีที่ผู้ให้มีอาวุโสสูงกว่า เช่น

先生はペンをくださいました。
社長は父にネクタイをくださいました。

もらう、いただく
คำกิริยาชุดนี้ มีความหมายว่า “รับ” ประธานของประโยคเป็นผู้ได้รับมาจากผู้อื่น ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อบอกว่า ฉันได้รับอะไรจากผู้อื่น จะไม่พูดว่า ใครได้รับอะไรจากฉัน เป็นลักษณะการถ่อมตนอย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่นที่ต้องการจะบอกว่า ผู้พูดได้รับความกรุณาจากผู้อื่น สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกในบุญคุณเช่นเดียวกับคำกิริยา くれる

คำกิริยาชุดนี้ แสดงให้เห็นว่าเรา “ตัวฉัน” “พวกฉัน” “พวกเรา” ซึ่งเป็นประธานของประโยคได้รับอะไรบางอย่างจากผู้อื่น มีโครงสร้างประโยค ดังนี้
ประธาน(ผู้รับ) กรรมรอง(ผู้ให้) に/から กรรมตรง もらう。 ในกรณีที่ผู้รับเป็น ฉัน อาจละประธานได้ ยกตัวอย่างเช่น

友達から花をもらいました。
山田さんはりーさんに何をもらいましたか。
山田さんからもらったネクタイはこれです。

สำหรับคำกิริยา いただく มีวิธีการใช้เช่นเดียวกับ もらう ต่างกันที่ความสุภาพ
いただく ใช้เพื่อแสดงความสุภาพในกรณีที่ผู้ให้มีอาวุโสสูงกว่า เช่น

先生から本をいただきました。
先生にいただいたりんごはとてもおいしかったです。

กิริยาทั้งสามชุดนี้ ยังใช้ร่วมกับกิริยารูป ~てเพื่อให้เกิดความหมายว่า ทำอะไรให้แก่ใครได้อีกด้วย โดยใช้หลักไวยากรณ์เดิมที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

~てやる、~てあげる、~てさしあげる
ส่วนใหญ่ใช้พูดเพื่อบอกเล่าว่า มีใครทำอะไรให้แก่ใคร หากจะใช้ในความหมายว่า ทำอะไรให้ผู้ฟังโดยตรง จะไม่นิยมพูดกับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่อาวุโสกว่า เพราะจะเหมือนเป็นการพูดเอาบุญคุณว่า ฉันทำอะไรให้คุณนะ เช่น

お前にお金を借りてきてやる。
ฉันจะไปขอยืมเงินมาให้แก
田中さんはリーさんに漢字を書いてあげました。
คุณทะนะกะเขียนตัวอักษรคันจิให้คุณลี

田中さんは社長に会社の中をご案内して差し上げました。
คุณทะนะกะนำท่านประธานชมภายในบริษัท

~てくれる、~てくださる
ใช้เพื่อบอกว่า มีใครทำอะไรให้แก่ฉัน เราได้รับผลประโยชน์ โดยมีหลักการใช้เดียวกันกับที่กล่าวแล้ว
あなたの貸してくれた本は面白かったです。
หนังสือที่คุณให้ฉันยืมสนุก
課長は駅まで私の荷物を持ってくださいました。
หัวหน้าแผนกถือของให้ฉันถึงสถานี

~てもらう、~ていただく
ใช้เพื่อบอกว่า ฉันได้รับการทำอะไรบางอย่างจากผู้อื่น แสดงความถ่อมตน เช่น

この時計は父に買ってもらいました。
พ่อซื้อนาฬิกาเรือนนี้ให้
助けていただきましてありがとうございます。
ขอขอบพระคุณที่ท่านช่วยเหลือ
私がご案内させていただきませんか。
ขอให้กระผมได้นำท่านเที่ยวได้หรือไม่

ประโยคท้ายนี้เป็นกรณีพิเศษ คือ ใช้กิริยา させる ตามด้วย いただく ใช้เพื่อแสดงความสุภาพอย่างมากในการจะเสนอตัวทำอะไรให้ใคร ฉันได้รับอนุญาตให้ทำอะไรให้ ไม่ใช่ว่าฉันบังอาจไปทำให้เอง คำกิริยา させる นี้ยังสามารถใช้ร่วมกับทั้งชุดคำกิริยา あげる และชุดくれる ได้เช่นกัน

การใช้กิริยา “ให้” และ “รับ” เหล่านี้ยุ่งยากตรงที่มีความหมายของคำกิริยาเป็นสำคัญ ก่อนเลือกใช้คำกิริยาตัวใดจำเป็นต้องคำนึงถึงว่าใครควรเป็นประธานของประโยค เราควรจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับ ควรจะใช้คำกิริยาชุดใด หรือ ตัวใดเพื่อแสดงความสุภาพ เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อทั้งผู้พูดและผู้ฟังต่อไป





วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

タスク5

เมื่อเช้านี้นั่งแกะสคริปต์ที่เราพูดสดไปใน タスク5(飛行機)  เป้าหมายของการพูดเล่าเรื่องสดครั้งนี้คือการพูดถูกต้องตามไวยากรณ์ภาษาญีปุ่น เราจะบรรลุเป้าหมายนั้นหรือไม่ต้องรอฟังคำชี้แนะจากอาจารย์อีกที แต่สิ่งที่เราสังเกตได้จาก タスク นี้คือเวลาที่ต้องพูดโดยไม่ได้เตี๊ยมบทเอาไว้ก่อน เราจะพูดมั่วไปหมดเลยโดยเฉพาะท้ายประโยคที่เราใช้รูปสุภาพซ้อนสุภาพแบบผิดไวยากรณ์ เช่น

- 飛行機に乗れませんでした
- ショック受けましたそうです。  
เป็นอย่างนี้ทุกประโยคเลย

เราคิดเอาเองว่าเป็นเพราะมัวแต่พะวงอยู่ว่าจะใช้ศัพท์คำไหนดี ตื่นเต้น นึกคำศัพท์ไม่ออก พอนึกออกก็รีบพูดออกไปก่อน ส่วนท้ายประโยคมันไหลออกมาเองตามธรรมชาติ

ถ้าธรรมชาติของเราเป็นธรรมชาติที่มันถูกต้องตามหลักไวยากรณ์เสียหน่อยก็ดีน่ะสิ

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Oh! NOH

วันก่อนพิมพ์ๆอยู่หลับไปตอนไหนไม่รู้ วันนี้เลยจะมาพิมพ์ต่อนะคะ

วันนี้ได้ดูละครโนฉบับย่อในชั่วโมงเรียนวิชาประวัติศาสตร์วรรณคดีญี่ปุ่น 2 อาจารย์ประจำวิชาคืออาจารย์เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์ แต่อาจารย์ที่มาเปิดละครโนให้ดูเป็นอาจารย์รับเชิญ นั่นก็คืออาจารย์อัษฎายุธ ชูศรี VCDละครโนที่อาจารย์เปิดให้ดู พิเศษตรงที่ว่าตัวละครเอกในเรื่อง แสดงโดยอาจารย์อัษฎายุธเอง น่าทึ่งมากทีเดียว แล้วก็แอบอิจฉาอาจารย์ที่ได้ไปฝึกเล่นละครโน แถมยังแสดงได้ดูเป็นธรรมชาติด้วย ถ้าไม่ได้เป็นอาจารย์ลูกศิษย์กัน คงจะเข้าใจว่าละครโนที่ได้ดู แสดงโดยคนญี่ปุ่นทั้งหมดเป็นแน่ นอกจากจะได้ดูภาพแล้ว ยังได้ฟังเสียงร้องบทละครโนของอาจารย์แบบสดๆอีกด้วย น่าทึ่งอีกแล้ว ถึงแม้จะฟังไม่รู้เรื่อง ชีทบทละครที่อาจารย์แจกก็อ่านไม่ออก ฟังครั้งแรก หลายคนอาจหลุดขำ ฟังดูตลก แต่ว่าพอฟังๆไปก็ขนลุกดีเหมือนกัน ที่ขนลุกเพราะอาจารย์ร้องได้เหมือนจริงเลย ถึงจะไม่เคยฟังของจริงว่าเป็นยังไงก็เถอะ แต่ก็คิดในใจว่า "อาจารย์ทำได้ยังไงเนี่ย"
เห็นอย่างนี้แล้วก็น่าอิจฉาอาจารย์ และนักเรียนแลกเปลี่ยนคนอื่นๆที่มีโอกาสได้เรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งและเข้าถึงขนาดนี้เหมือนกันนะ...

^_^

タスク2

ในงานชิ้นที่สองของวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์นี้ อาจารย์ให้การ์ตูนสี่ช่องมาเรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่องว่า それは秘密です。ในภาพทั้งสี่ช่องมีคำอธิบายหรือบทพูดประกอบ ก่อนหน้าที่จะทำงานชิ้นนี้ ก็เคยได้ทำงานคล้ายๆกันนี้ในวิชา Japanese Conversation IV มาก่อน ต่างกันตรงที่ว่า วิชา Japanese Conversation IV ให้เราอธิบายภาพ เน้นให้เราบรรยายภาพ ให้ผู้ฟังที่มองไม่เห็นภาพนึกภาพตามได้ แต่ในวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์นี้ อาจารย์ให้สมมติว่าการ์ตูนเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง แล้วให้เราเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนสนิทของเราฟัง โดยเน้นว่า เล่าอย่างไรให้ได้อรรถรส ให้เพื่อนรู้สึกสนุกไปกับเราด้วย โดยให้อัดเสียงเล่าของตัวเองไว้หลังจากที่มีเวลาเตรียมตัวประมาณห้านาที

ผลที่เราทำออกมานั้น ยอมรับว่ายังไม่ได้เรื่องเลย 555+ เพราะว่า ตะกุกตะกัก พูดไม่เป็นประโยค เว้นระยะนาน ส่วนใหญ่จะยกคำอธิบายในภาพมาเล่าแบบ copy > pasteทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ แถมยังใช้ รูปธรรมดา กับรูป です、ます ปนกันมั่วไปหมด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ คิดว่าเป็นเพราะตื่นเต้น ลนลานเพราะอายเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ อาทิตย์ถัดมา อาจารย์ให้เราแก้ไข ตัดออก หรือเพิ่มเติมส่วนที่อยากจะพูดแต่ไม่ได้พูดลงไป พอเติมก็คิดว่างานของตัวเองดีขี้นแล้ว แต่พออาจารย์เปิดเทปตัวอย่างเสียงของอาจารย์ชาวญี่ปุ่นสองท่านให้ฟัง ก็เข้าใจในทันทีว่าเรื่องเล่าของเรายังขาดอะไรอะไรอีกมากมายนัก (ไม่นับเรื่องไวยากรณ์ผิดๆ กับเรื่องที่เล่าตะกุกตะกักไม่ปะติดปะต่อนะ) เรามาดูกันซิว่าสิ่งที่ขาดไปมีอะไรบ้าง

1. ขาด メタ言語 หรือที่อาจารย์สอนว่า ภาษาเหนือภาษา เป็นวลีหรือประโยคเกริ่นนำที่ช่วยดำเนินการสนทนาหรือการเล่าเรื่องใดๆให้เป็นไปอย่างราบรื่น น่าติดตาม และช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น
-ねえ、ねえ、知ってる。(นี่ๆ รู้รึเปล่า) (ผู้หญิงใช้)
-ねえ、ねえ、聞いて聞いて。(นี่ๆ ฟังๆ) (ผู้หญิงใช้)
-あのさ、(นี่ๆ (มีเรื่องจะเล่าให้ฟังแน่ะ)) (ผู้ชายใช้)
-大変事あったの。(เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นล่ะ)
-大変なことが起こったんだって。(แต่แล้วก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น)
-そこで、何と言ったと思う?(ณ จุดๆนี้ คิดว่า(เขา)จะว่ายังไงล่ะ)
-すごい面白いでしょう。(ตลกสุดๆเลยเนอะ) เหล่านี้เป็นต้น
ซึ่งหากขาดไป คนฟังจะไม่มีอารมณ์ร่วม การเล่าเรื่องจะดูทื่อๆไม่น่าติดตาม ไม่น่าตื่นเต้นเอาเสียเลย

2. ขาดคำลงท้ายประโยคที่ดี ทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ เพื่อนในห้องบางคนมีปัญหาเดียวกับเรานั่นก็คือ จะลงท้ายประโยคด้วย よ ตลอด ซึ่งในตัวอย่างจากเสียงอาจารย์นั้น จะเห็นว่าอาจารย์ทั้งสองท่านลงท้ายประโยคหลายแบบ ไม่ซ้ำซาก ของอาจารย์ผู้หญิงก็มี ~のね、~のよ、~なの、~だって เป็นต้น ส่วนของอาจารย์ผู้ชายก็มี ~よね、~でさ、~だ、だよ、และบางครั้งก็จบด้วยคำนามเสียเฉยๆ

3. ขาดทักษะการเล่าเรื่องให้น่าตื่นเต้น ที่เราเล่าไปนั้นเหมือนเป็นการอธิบายภาพนิ่ง แต่อาจารย์ทั้งสองท่านนั้นเล่าเหมือนกับกำลังอธิบายภาพเคลื่อนไหวอยู่ กล่าวคือ ผู้ฟังมองเห็นภาพเคลื่อนไหวตามอาจารย์ทั้งสองไปด้วย โดยเฉพาะจุด climax ของเรื่องที่ผู้ชายกำลังยกมือขึ้นไปถอดวิกผมตัวเอง

4. ขาดความสมบูรณ์ของเรื่อง ของเราแค่อธิบายภาพช่องที่สี่จบแล้วก็จบกัน ฟังแล้วรู้สึกค้างๆคาๆ ทิ้งคำถามไว้ให้ผู้ฟังเสียอย่างนั้น แต่ของอาจารย์ทั้งสองท่านจะมีการเสริมเรื่องราวที่ไม่มีให้ในการ์ตูน ท่านหนึ่งจะคิดเรื่องราวต่อขึ้นมาเองว่าเป็นอย่างไรต่อ ส่วนอีกท่านหนึ่งก็จบด้วยการเน้นย้ำจุดน่าสนใจของเรื่อง

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เห็นได้ชัดว่าเรายังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของงานชิ้นนี้ สำหรับตัวเราแล้วคิดว่าทักษะการพูดภาษาญี่ปุ่นของตัวเองยังอ่อนอยู่มาก ซึ่งก็ต้องฝึกฝนกันต่อไป
พยายามต่อไปนะทะเคะชิ ^o^

ก่อนจบอยากจะพูดถึงความรู้ภาษาญี่ปุ่นที่ได้เพิ่มจาก タスク2 นะคะ
- สำนวน A にもったいないぐらいの B แปลว่า B ดีเกินไปสำหรับ A, B ไม่คู่ควร A
  ถ้าไปเจอสำนวนนี้เอาข้างนอกด้วยตัวเอง จะเข้าใจว่า Aเป็นฝ่ายที่ต้องเสียดาย B ไม่คู่ควรกับ A
  แปลผิดได้สุดโต่งดีจริงๆ ดีนะที่มาเจอสำนวนนี้ในวิชานี้เสียก่อน ^_^"
- สำนวน もう..大ピンチ。แปลว่า วิกฤตแล้ว - _ -"
- สำนวน ~ことがばれちゃったんだ。แปลว่า ความแตกแล้ว O~O"
- สำนวน どっちもどっちだよね。แปลว่า พอกันนะคู่นี้
- คำศัพท์ おもむろに แปลว่า ค่อยๆ (เอื้อมมือ)
- คำศัพท์ ブスな แปลว่า ขี้เหร่
- ได้รู้ว่ารูปประโยคบางรูปที่ถ้าเราใช้เองจะคิดว่ามันแปลก จริงๆแล้วใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ประโยคจากตัวอย่างของอาจารย์ผู้หญิง ที่ว่า それで、次、彼、何したと思う?เป็นต้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะคิดว่าประโยคนี้ฟังแล้วรู้สึกไม่ต่อเนื่อง แต่อาจารย์ก็ยังใช้ ทำให้คิดได้ว่า ความสำคัญของการสื่อสารโดยเฉพาะการพูดนั้น คือการที่ผู้ฟังเข้าใจเราได้ถูกต้อง เมื่อถึงเวลาที่เราต้องพูด ก็ไม่ควรไปเสียเวลากับการเรียงร้อยประโยคนานเกินไป ฝึกฝนไปเรื่อยๆ แล้วการเรียบเรียงคำพูดของเราก็จะดีขึ้นเรื่อยๆเอง หวังว่าเราจะเป็นอย่างนั้นนะ แต่ก็อีกนั่นแหละ เราไม่ค่อยกล้าพูด กล้าคุยภาษาญี่ปุ่นสักเท่าไหร่ ขาดความมั่นใจในตัวเอง เป็นปัญหาที่ต้องปรับปรุงตัวเองอย่างเร่งด่วน!

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

タスク1

ได้ลองสมมติตัวเองเป็นคนที่ชอบเล่น フラメンコギター แล้วส่งเมล์ไปขอเรียนคอร์สตัวต่อตัวกับปรมาจารย์ชั้นครูผู้มีชื่อเสียงชาวญี่ปุ่น เขียนเมล์ทั้งหมดสามครั้ง ครั้งแรกยังเขียนได้ไม่ดี หลังจากได้อ่านตัวอย่างเมล์ที่ดีของเพื่อนๆ และจากในชีท ก็พบว่าจดหมายที่เราเขียนมีข้อบกพร่องหลักๆ 2 ข้อด้วยกันคือ
1. ขาดรายละเอียดสำคัญๆ เช่น ไม่บอกระดับความสามารถของตัวเองให้อาจารย์ทราบ ไม่บอกวันเวลาที่สะดวกจะเรียน
2. ภาษาที่ใช้ไม่สุภาพ มีคำศัพท์ที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น 費用について問い合わせておきたいと思います。
ควรหลีกเลี่ยงคำว่า費用 ควรใช้ประโยคว่า一ヶ月どのぐらいかかりますか。มากกว่า ส่วนการบอกปิดท้ายว่า お返事をお待ちしております。ก็ไม่ควรเขียน เพราะเหมือนเร่งให้อีกฝ่ายตอบกลับซึ่งเสียมารยาท เป็นต้น

เมื่อทราบดังนี้ จึงปรับปรุงแก้ไขไปในการเขียนครั้งที่สอง ในครั้งที่สองนี้มีข้อบกพร่องน้อยลง แต่ก็ยังมีจุดที่ใช้ไวยากรณ์ผิดๆอยู่ และเขียนเหมือนกับตัวอย่างในชีทมากเกินไป

ครั้งที่สามก็ได้แก้ไขจุดที่ผิดไวยากรณ์ตามที่อาจารย์แนะนำ เนื้อความที่เหลือยังคงเดิม

ถ้าเทียบครั้งที่สามกับครั้งที่หนึ่งแล้ว ครั้งที่สามดีกว่ามาก เนื่องจากมีสำนวนภาษาที่สุภาพและมีเนื้อหาสมบูรณ์กว่า

จากงานชิ้นแรกที่ได้ทำนี้ทำให้รู้ว่าภาษาญี่ปุ่นของตนเองยังมีจุดบกพร่องอยู่มาก ยังไม่แม่นไวยากรณ์ ได้ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ บางเรื่องที่ชาวไทยคิดว่าจะเป็นการเสียมารยาท แต่สำหรับชาวญี่ปุ่น หรือชาวต่างชาติอาจจะไม่คิดอย่างเดียวกันก็ได้ เห็นได้จากการเขียนเมล์ครั้งแรกที่ไม่มีข้อมูลว่าตนเองมีความสามารถระดับไหนแล้ว และ ไม่ระบุวันเวลาที่จะสะดวกเรียน ที่ไม่ได้เขียนไปเนื่องจากคิดว่าจะเป็นการเสียมารยาทที่จะระบุวันเวลาไป แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว ไม่เป็นการเสียมารยาท ตรงกันข้าม การระบุรายละเอียดต่างๆไปให้ชัดเจนในคราวเดียวเป็นการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา ย่นระยะเวลาในการติดต่อ ไม่ต้องส่งเมล์กลับไปกลับมาหลายรอบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้สำนวนใหม่ๆที่ควรจำไปใช้เช่น お手数ですが、และ お返事は急ぎませんが、どうぞよろしくお願いいたします。อีกด้วย